มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เช็กอาการ โรคร้ายที่พบได้น้อย เพียง 5-7 รายต่อปี
มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เช็กอาการ 6 สัญญาณ ก่อนการเสี่ยงเป็นโรคร้าย โรคมะเร็งที่พบได้น้อย พบได้เพียง 5-7 รายต่อปี!
มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ หนึ่งในโรคมะเร็งหัวใจ หรือ Cardiac Sarcoma หนึ่งในโรคมะเร็งชนิดที่พบได้ยาก คาดในประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วย 5-7 คนต่อปี อีกทั้งการเกิดโรคมะเร็งหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจมีความผิดปกติตั้งแต่เกิดถึงเกิดโรคนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคน ความเสี่ยงอื่นก็เไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ข้อมูลมีน้อยมากในกรณีแบบนี้
ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดย ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เปิดเผยสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย โดยได้ระบุว่าข้อมูลในประเทศไทย จะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 1.4 แสนคนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย จะอยู่ในกลุ่มมะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ
ส่วนโรคมะเร็งหัวใจ หรือมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ตามที่มีรายงานว่าดาราชายไทยเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว พบได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสถิติทั้งโลก หรือสถิติประเทศไทย เพราะโดยธรรมชาติของโรคมะเร็ง จะเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์หรืออวัยวะ และเกิดการกลายพันธ์เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งโดยปกติเซลล์หัวใจ เป็นเซลล์ที่เติบโตแล้วไม่ค่อยมีการแบ่งตัว แปลว่าโอกาสที่จะมีการแบ่งตัวผิดปกติมีน้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้
อีกทั้งประการสำคัญคือ การเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ก็มีการค้นพบพันธุกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กันกับการเกิดโรคนี้ หรือที่เรียกว่า “มีความผิดปกติตั้งแต่เกิดถึงเกิดโรคนี้” ส่วนความเสี่ยงอื่น ๆ ก็เป็นความเสี่ยงทั่วไปที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน มีข้อมูลที่สนับสนุนได้น้อยมาต่อกรณีนี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วยได้ 5-7 คนต่อปี ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ อายุ 30-50 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44 ปี และส่วนใหญ่จะพบในผู้ชาย อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคน
มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ คืออะไร ?
ข้อมูลจาก นพ.ศุภฤกษ์ วิจารณาญาณ เจ้าของเพจ หมอโอ๊ค DoctorSixpack ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ในกรณีที่ อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวว่า “อาการป่วยของพระเอกหนุ่ม คือการเป็นมะเร็ง มีก้อนเนื้อบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดยาว 12 เซนติเมตร มีการคีโมไปแล้ว 5-6 ครั้ง มีส่วนที่ลามไปบริเวณปอด 2 จุด หลังจากที่รักษารักษาตัวนานร่วม 3 ปี มะเร็งก็ได้คร่าชีวิตคุณอ๋อมไป นอกจากนี้การป่วยเป็นมะเร็งนั้น เป็นเพียงคนรอบข้างออกมาพูด ยังไม่มีรายงานชัดเจนออกมาจากทีมแพทย์ และยังไม่มีข้อมูลชัดจากเจ้าตัวหรือคนใกล้ชิด”
อย่างไรก็ตาม หมอโอ๊ค นพ.ศุภฤกษ์ ได้สันนิษฐานว่าสาเหตุของการเสียชีวิต น่าจะเป็นโรค Cardiac Rhabdomyosarcoma หรือมะเร็งกล้ามเนื้อลายที่หัวใจ ซึ่งเป็นเนื้องอกปฐมภูมิของหัวใจที่พบได้น้อยมาก แต่มีความรุนแรงสูง โรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกวัย แต่มักพบในเด็กและวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ การศึกษาพบว่า Cardiac Rhabdomyosarcoma คิดเป็นน้อยกว่า 0.1% ของเนื้องอกหัวใจทั้งหมด
มะเร็งหัวใจ คืออะไร ?
มะเร็งหัวใจ หรือ Heart Cancer แต่โดยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อ Cardiac Sarcoma ซึ่งเป็นศัพท์ทางการแพทย์ โดยมะเร็งชนิดนี้เป็นโรคหายาก โดยจากสถิติแล้วจะพบผู้ป่วยมะเร็งหัวใจน้อยกว่า 2 ราย ต่อประชากร 100,000 รายต่อปี อีกทั้งส่วนใหญ่โรคมะเร็งหัวใจไม่ได้เกิดจากหัวใจโดยตรง แต่เป็นมะเร็งที่เกิดจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ แล้วเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่หัวใจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ (Primary cardiac cancer) : เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อหัวใจโดยตรง ซึ่งเกิดได้กับเนื้อเยื่อทุกส่วนของหัวใจ เป็นมะเร็งหัวใจชนิดที่พบได้น้อยมาก และมักไม่แสดงอาการใดในระยะแรก
- มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ (Secondary cardiac cancer / Metastatic cardiac cancer) : เป็นมะเร็งที่เกิดในอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่หัวใจ แต่แพร่กระจายมาที่หัวใจผ่านทางกระแสโลหิต โดยมะเร็งหัวใจชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าชนิดแรกราว 30-100 เท่า
สาเหตุโรคมะเร็งหัวใจ
โรคมะเร็งหัวใจ ที่เกิดในหัวใจโดยตรง ยังไม่มีข้อมูลที่ระบุได้แน่ชัดว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ข้อมูลได้สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากรังสีหรือสารพิษชนิดหนึ่ง ก่อให้เกิดเซลล์เนื้อร้ายที่หัวใจ รวมไปถึงการเกิดทั้งภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็ง ทั้งนี้ยังมีข้อมูลที่ระบุว่า มะเร็งหัวใจอาจสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ได้ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งหัวใจมักมีประวัติสมาชิกครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ ตามข้อมูลทางการแพทย์ได้ระบุว่า ความเสี่ยงในโรคมะเร็งหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่จะพบความเสี่ยงได้มากในเพศชาย ช่วงอายุ 30-50 ปี แต่ในเพศหญิงก็เสี่ยงได้ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหัวใจเพิ่มขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ข้อมูลยังมีจำกัด ยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
อาการ โรคมะเร็งหัวใจ
อาการของผู้ป่วยมะเร็งหัวใจ ในช่วงที่เป็นมะเร็งระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคมะเร็งรุนแรงแล้ว ซึ่งมักไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งหัวใจ มักจะมีอาการแสดงดังนี้
- หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง (กรณีเกิดมะเร็งที่หัวใจห้องขวาบน)
- หายใจไม่เต็มปอด
- เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย หมดแรง
- เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ (กรณีเกิดมะเร็งที่หัวใจห้องซ้าย)
- หัวใจเต้นเร็ว
- เจ็บหน้าอก
- หน้ามืด วิงเวียน
- หมดสติ
- หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
โรคมะเร็งหัวใจจะต้องรักษาในรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา และเนื่องจากทางการแพทย์ยังหาสาเหตุที่ชัดเจนของโรคมะเร็งหัวใจไม่ได้ คำแนะนำในการการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงแก่การเกิดโรค จึงยังไม่ชัดเจนมากเท่าที่ควร มีเพียงคำแนะนำให้ปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ
ทั้งนี้ ถึงโรคมะเร็งหัวใจจะเป็นโรคที่พบได้น้อย ความเสี่ยงเกิดโรคอาจไม่ได้สูงมาก แต่หากเกิดความเสี่ยงมะเร็งบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลุกลาม ที่กลายเป็นโรคมะเร็งหัวใจในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพโดยรวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายแก่ตนเองจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุด
ที่มา : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์